RADIOGRAPHIC FILM INTERPRETATION (RI)
การแปลผลฟิล์มภาพถ่ายรังสี
ฉากรับภาพรังสีกลุ่มพลาสติคมีความไวต่อแสงและไฟฟ้าสถิตย์ ผู้ปฏิบัติงานต้องระมัดระวังตั้งแต่แรกเริ่มบรรจุฟิล์มเข้าซองตะกั่วภายใต้ห้องมืด หรือแม้กระทั่งขั้นตอนฉายภาพรังสี ฟิล์มต้องไม่อาบรังสีด้วยเหตุไม่คาดคิด หรือแม้กระทั่งซองฟิล์มหมดอายุปริแตกย่อมส่งผลให้แสงเล็ดลอดเข้าทำปฏิกิริยากับฟิล์มได้ ในขั้นตอนการล้างฟิล์ม (film processing) ต้องควบคุมอุณหภูมิ ความเข้มข้นสารเคมี และเวลาทำปฏิกิริยาอย่างเคร่งครัด ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในขั้นตอนนี้อาจนำไปสู่การริเริ่มถ่ายภาพรังสีใหม่ตั้งแต่ต้น (re-shoot) ดังนั้น ความชำนาญของผู้ล้างฟิล์มมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ฟิล์มที่ได้มาต้องวัดค่าความเข้ม คำนวณค่าความไม่คมชัด และระบุเส้นลวดปรากฏ เมื่อค่าเหล่านี้สอดคล้องกับมาตรฐานแล้วจึงนำฟิล์มเข้าสู่การแปลผลและตัดสินยอมรับหรือปฏิเสธงาน อันดับแรก ผู้แปลผลฟิล์มต้องเข้าใจงานที่ถูกถ่ายภาพรังสีอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะงานเชื่อม การเตรียมรอยบาก กระบวนการเชื่อม และแนวเชื่อมสำเร็จ ทุกขั้นตอนล้วนนำไปสู่รอยบกพร่องได้ องค์ความรู้จึงเป็นแนวทางการแปลผลฟิล์มได้เป็นอย่างดี หรือในบางกรณีเกิดความคลุมเครือหรือขาดความมั่นใจในการแปลผล ควรยืนยันด้วยการเข้าตรวจสอบงานจริงด้วยสายตา ทำให้แยกได้ว่ารอยบ่งชี้ปรากฏบนฟิล์มอาจเป็นรอยกัดแหว่งขอบแนวเชื่อม (undercut) หรืออาจเป็นด้านข้างรอยบากไม่หลอมละลาย (lack of side wall fusion) นอกจากนี้ ผู้แปลผลฟิล์มต้องระบุรอยบ่งชี้ที่ไม่ใช่รอยบกพร่องบนชิ้นงาน (artifact) ซึ่งไม่ถูกนำไปพิจารณาปฏิเสธชิ้นงาน ตัวอย่างเช่น รอยหนีบจับฟิล์ม รอยเล็บมือ รอยหยดน้ำ ความบกพร่องของตัวอักษรตะกั่ว เป็นต้น ในกรณีปรากฏอักษรบีสีขาว (back scattering) ให้เพิ่มความหนาตะกั่วรองด้านหลังซองฟิล์มในการฉายภาพรังสีครั้งต่อไป ส่วนตัวอักษรบีสีทึบหรือดำเกิดจากรังสีสะท้อนกลับจากรอยต่อระหว่างผิวซองฟิล์มและตัวอักษรบี ซึ่งไม่เป็นเงื่อนไขในการปฏิเสธภาพถ่ายรังสีนี้ สำหรับการประเมินรอยบ่งชี้ที่ปรากฏบนฟิล์มนั้น ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์หรือข้อตกลงในการเลือกใช้มาตรฐาน (code and standard) หากเป็นกลุ่ม ASME ให้ริเริ่มทำความเข้าใจจาก Section VIII, Division 1 ให้ปฏิเสธรอยบ่งชี้ประเภทรอยแตก รอยบากไม่หลอมละลาย และการซึมลึกไม่สมบูรณ์ สำหรับรอยบ่งชี้อื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ แนะนำให้ทำความเข้าใจเกณฑ์แสดงรายละเอียดใน ASME VIII.1 appendix 4 โดยนิยามของ Custer porosity คือ รอยบ่งชี้รูปกลมหนาแน่นกว่าบริเวณอื่นๆ อยู่ 4 เท่า (The illustrations for clustered indications show up to four times as many indications in a local area, as that shown in the illustrations for random indications.) กรณีภาพถ่ายรังสีแสดงผลด้วยไฟล์อิเล็กทรอนิกส์นั้น ปัจจุบันมีโปรแกรมสำเร็จรูปในการประเมินผลอย่างแม่นยำ มีต้นทุนสูงจึงไม่เป็นที่นิยมสำหรับงานในประเทศไทย การเก็บไฟล์ในรูป Film digitalizer เป็นทางเลือกที่เหมาะสมในปัจจุบัน